วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีกับการพัฒนาประเทศไทย


 


เมื่อโลกได้ก้าวล้ำหน้ายุคโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคต่อไป นั่นคือยุคที่โลกไร้พรมแดนเช่นเดียวกับอาเซียนที่วันนี้นับถอยหลังการเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งด้านประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนาธรรมในภูมิภาค  เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค และเพื่อใช้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาค

            การพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ละทิ้งวัฒนธรรมและกิจกรรมที่ไม่ทำลายสังคม ภายใต้บริบทดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย ดังนั้นการพัฒนาที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผสานความร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงด้านต่างๆให้ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 

จากสถิติประชากรของประเทศไทยพบว่าผู้หญิงเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของสังคม และจำนวนสตรีที่มีมากขนาดนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับนโยบายสตรีในการพัฒนาศักยภาพสตรีในด้านต่างๆ รวมถึงดูแลคุ้มครองลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีหลายมาตรการในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดละประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท ครอบคลุมทั้ง ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร

 
 
สิ่งที่คาดหวังจากการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีคือเพื่อยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ  เพื่อสร้างสังคม เสมอภาค สร้างสรรค์และสันติสุข รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว โดยนำศักยภาพและความแตกต่างระหว่างหญิงชาย มาใช้ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
            ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นอีกมาตรการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพสตรีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๘ โดยเฉพาะเยาวชนสตรีรุ่นใหม่ทั้งหลายที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกในแง่ของโอกาส และทางลบในแง่ของอุปสรรคหากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดี 

            จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมอาเซียนและมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้สามารถสร้างศักยภาพให้แก่เยาวสตรีของไทยในการเตรียมพร้อมการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนทั้งด้านความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม และที่สำคัญด้านเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเยาวสตรีจะเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติภายใต้บริบทของการเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น