วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โครงสร้างค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และโลกยุคต่อไป


โดย อ.ดร.เบญจวรรนรี  โชติช่วงนิรันดร์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
1 กุมภาพันธ์ 2556



จากการจัดอันดับการศึกษาที่ดีเลิศของโลกในปีค.ศ. 2012 ปรากฎว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ได้คะแนน 46.6 คะแนนจากเต็ม 100 ซึ่งหากเป็นการสอบทั่วไปก็คือสอบตก ในขณะที่งบประมาณที่ประเทศไทยใส่ลงไปในงบประมาณด้านการศึกษาเป็นอันดับสองของโลก นั่นแสดงให้เห็นว่าต้องมีข้อผิดพลาดอะไรบางอย่างในการจัดระบบการศึกษาของประเทศไทยโดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่อยู่ในระดับสูงแต่กลับเกิดผลในทิศทางตรงข้าม จากการศึกษาโรงเรียนในประเทศไทยที่มีคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับดีพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนมี 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1.   คุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ขึ้นอยู่กับ คุณภาพการจัดการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วย
a.    ประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรของโรงเรียน ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การจัดกิจกรรมเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านต่างๆ
b.   ประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณของโรงเรียน ประกอบด้วย
                                                                        i.      การบริหารงบประมาณจัดการเรียนการสอน เช่นค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าจ้างครูสอนพิเศษ ค่าพัฒนาสื่อการสอน ค่าหนังสือเรียน
                                                                    ii.      การบริหารงบประมาณการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กิจกรรมเสริมอื่นๆ
                                                                 iii.      การบริหารงบประมาณในด้านอื่นๆทั่วไป เช่น ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
 

2.   คุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ขึ้นอยู่กับ คุณภาพของครู ซึ่งประกอบด้วย
a.    ความรู้ความสามารถของครู
b.   ประสบการณ์การสอนของครู
c.    ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ของครู
d.   จรรยาบรรณของครู
3.   คุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ขึ้นอยู่กับ คุณภาพของสื่อการเรียนการสอน อาทิ
a.    คุณภาพของหนังสือเรียน
b.   คุณภาพของสื่อการเรียนประเภทอื่นๆ
4.   คุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยภายนอก เช่น
a.    ความพร้อมของตัเวเด็กนักเรียน
b.   เครื่องแบบนักเรียน
c.    อาหารกลางวัน
d.   ที่พักนอน
e.    ครอบครัว และชุมชน

 

ดังนั้น รูปแบบงบประมาณที่ต้องการเน้นการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนจึงต้องสอดคล้องกับปัจจัยดังกล่าวข้างต้น และจัดสรรงบประมาณให้ถูกที่ถูกทางถูกคน จึงจะประสบความสำเร็จ กล่าวคือ รูปแบบการบริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษาที่ส่งผลด้านคุณภาพ เป็นดังนี้
1.   งบบริหาร (ซึ่งจัดสรรให้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการ) ประกอบด้วย
a.    งบบริหารจัดการเรียนการสอน เช่นค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าจ้างครูสอนพิเศษ ค่าพัฒนาสื่อการสอน ค่าหนังสือเรียน การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และ กิจกรรมเสริมอื่นๆ
b.   งบบริหารงานทั่วไป เช่น ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ค่าบริหารจัดการงานบริหารทั่วไป
2.   งบพัฒนาครู (ซึ่งจัดสรรให้ครูโดยตรง หรือให้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการ)
a.    งบพัฒนาส่งเสริมความรู้ ประสบการณ์ ของครู (ในส่วนนี้คือเงินประจำตำแหน่งต่างๆ )
b.   งบพัฒนาสื่อการเรียนการสอน เช่นงบพัฒนาส่งเสริมให้ครูทำเอกสารการสอนเอง ครูพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิคส์ ครูพัฒนาสื่อแอปพลิเคชั่นต่างๆ เป็นต้น (ต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้)
3.   งบอุดหนุนรายหัวนักเรียน (ซึ่งจัดสรรให้นักเรียนโดยตรง)
a.    งบเครื่องแบบนักเรียน
b.   งบอาหารกลางวัน
c.    งบเครื่องดื่ม นม
ทั้งนี้เพื่อให้คำว่า คุณภาพการศึกษาเป็นคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง เมื่อนักเรียนมีคุณภาพการศึกษาที่แท้จริงย่อมหมายถึง คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเมื่อทรัพยากรมนุษย์นี้มีคุณภาพจาการจัดการเรียนการสอนของรัฐ ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป


วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีกับการพัฒนาประเทศไทย


 


เมื่อโลกได้ก้าวล้ำหน้ายุคโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคต่อไป นั่นคือยุคที่โลกไร้พรมแดนเช่นเดียวกับอาเซียนที่วันนี้นับถอยหลังการเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งด้านประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนาธรรมในภูมิภาค  เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค และเพื่อใช้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาค

            การพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ละทิ้งวัฒนธรรมและกิจกรรมที่ไม่ทำลายสังคม ภายใต้บริบทดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย ดังนั้นการพัฒนาที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผสานความร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงด้านต่างๆให้ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 

จากสถิติประชากรของประเทศไทยพบว่าผู้หญิงเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของสังคม และจำนวนสตรีที่มีมากขนาดนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับนโยบายสตรีในการพัฒนาศักยภาพสตรีในด้านต่างๆ รวมถึงดูแลคุ้มครองลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีหลายมาตรการในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดละประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท ครอบคลุมทั้ง ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร

 
 
สิ่งที่คาดหวังจากการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีคือเพื่อยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ  เพื่อสร้างสังคม เสมอภาค สร้างสรรค์และสันติสุข รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว โดยนำศักยภาพและความแตกต่างระหว่างหญิงชาย มาใช้ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
            ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นอีกมาตรการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพสตรีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๘ โดยเฉพาะเยาวชนสตรีรุ่นใหม่ทั้งหลายที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกในแง่ของโอกาส และทางลบในแง่ของอุปสรรคหากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดี 

            จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมอาเซียนและมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้สามารถสร้างศักยภาพให้แก่เยาวสตรีของไทยในการเตรียมพร้อมการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนทั้งด้านความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม และที่สำคัญด้านเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเยาวสตรีจะเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติภายใต้บริบทของการเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป