วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558
วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558
การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีไทยสู่อาเซียน
การพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีไทยสู่อาเซียน Development of Young Thai Woman to AESAEN
เมื่อโลกได้ก้าวล้ำหน้ายุคโลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคต่อไป นั่นคือยุคที่โลกไร้พรมแดนเช่นเดียวกับอาเซียนที่วันนี้นับถอยหลังการเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งด้านประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนาธรรมในภูมิภาค เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค และเพื่อใช้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาค
การพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ละทิ้งวัฒนธรรมและกิจกรรมที่ไม่ทำลายสังคม ภายใต้บริบทดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย ดังนั้นการพัฒนาที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผสานความร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงด้านต่างๆให้ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
จากสถิติประชากรของประเทศไทยจำนวน 65.90 ล้านคนพบว่าสัดส่วนของเพศหญิงเป็น 51 % ของสังคม และจำนวนสตรีที่มีมากขนาดนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ของชาติกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ถูกละเลยมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากปัญหาความรุนแรงทางเพศที่จำนวนสถิติไม่ได้ลดลง
แล้วเมื่อประเทศไทยก้าวสู่อาเซียน ทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นกำลังหลักของชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวสตรีที่ต้องกลายเป็นกำลังหลักในรุ่นถัดไปมีศักยภาพและมีความพร้อมในด้านต่างๆหรือไม่เพียงไร
จากการศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาเยาวสตรีไทยและความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนนั้น ได้ข้อสรุปว่า การก้าวสู่เป็นประชาคมอาเซียน เยาวสตรีไทยต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้ เจตคติ ทัศนคติ อารมณ์และเอกลักษณ์วัฒนธรรมแห่งกุลสตรีไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เยาวสตรีไทยสามารถนำศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้เพื่อตนเองและประเทศชาติได้อย่างเต็มที่ สอด คล้องกับ 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน
พิจารณาทางด้านทฤษฎีทุนมนุษย์ โดย Lynda Gratton และ Sumantra Ghoshal (อ้างถึงใน นิสดารก์ เวชยานนท์. 2551. อ้างใน ปิยนันท์ สวัสดิ์ศฤงฆาร, 2556. ) ที่ได้ให้ความหมายของ “ทุนมนุษย์” ว่าหมายถึงส่วนผสมของ 3 สิ่ง คือ
1. ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) ประกอบ ด้วย ความรู้และความ สามารถในการเรียนรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทักษะ ประสบการณ์ที่คนสะสมไว้ รวม ทั้งความรู้ที่อยู่ในตัวเราที่เรียกว่า Tacit Knowledge
2. ทุนทางสังคม (Social Capital) ประกอบด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์
3. ทุนทางอารมณ์ (Emotional Capital) ประกอบด้วยคุณลักษณะต่างๆเช่น การรับรู้
ตนเอง (Self Awareness) ความมีศักดิ์ศรี (Integrity) การมีความยืดหยุ่น (Resilience)
ทฤษฎีทุน 8 ประการ (8K’s) ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย
1. Human Capital ทุนมนุษย์ คือ ทุนเริ่มต้นของคนแต่ละคนที่เกิดมามีร่างกาย รูปร่าง
หน้าตา สติปัญญาที่แตกต่างกัน
2. Intellectual Capital ทุนทางปัญญา คือ ทุนที่เกิดจากการศึกษาเรียนรู้ที่ทำให้คนคิด
เป็น วิเคราะห์เป็น และสามารถนำความรู้ที่มีไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
3. Ethical Capital ทุนทางจริยธรรม คือ ทุนภายในส่วนลึกหรือสามัญสำนึกของจิตใจคน ซึ่งจะส่งผลต่อทุนทางปัญญาที่จะคิดวิเคราะห์ด้วยความดี มีศีล ธรรม มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
4. Happiness Capital ทุนแห่งความสุข คือ ทุนที่อยู่ภายในจิตใจของคน ในการลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากแรงบันดาลใจ ที่จะส่งผลให้เกิดความสุขความอิ่มเอมใจในการกระทำสิ่งเหล่านั้น เป็นแรงผลักดันให้การทำงานมีเป้าหมายที่ชัดเจน
5. Social Capital ทุนทางสังคม คือ ทุนที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพ แวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือสังคมภายนอกในการหล่อหลอมตัวตนของแต่ละบุคคลให้เป็นไปในทางดีหรือทางเสื่อมขึ้นอยู่กับทุนทางจริยธรรมของแต่ละบุคคลที่จะมุ่งสร้างคุณงามความดี หรือจะกระทำความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้างและสังคม
6. Sustainability Capital ทุนแห่งความยั่งยืน คือ ทุนที่เกิดจากการกระทำของคนที่มุ่งหวังผลในระยะยาวโดยเริ่มต้นจากการกระทำความดีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
7. Digital Capital ทุนทางไอที คือ ทุนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำ
เครื่องมือเครื่องใช้ด้านไอทีต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และสังคมโดยรวมได้
8. Talented Capital ทุนทางความสามารถพิเศษ คือ ทุนที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์
ทักษะความรู้ บ่มเพาะจนเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความชำนาญในด้านต่างๆ ตามแต่ความถนัดและทัศนคติของแต่ละบุคคล
รวมถึงทฤษฏีทุนใหม่ 5 ประการ (5K’s New) ซึ่งเป็นทุนที่สำคัญสำหรับทรัพยากรมนุษย์
ในยุคโลกาภิวัฒน์ ประกอบด้วย
1. Knowledge Capital ทุนทางความรู้ คือ ทุนในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม เจาะลึก
ความรู้ทั่วไปภายใต้มิติเดียว ไปสู่การรอบรู้อย่างลึกซึ้งในหลากหลายมิติ
2. Creativity Capital ทุนทางความคิดสร้างสรรค์ คือ ทุนในการคิดดัดแปลง คิด
ประยุกต์ใช้ คิดขึ้นใหม่ และคิดพัฒนาโดยมุ่งให้เกิดความเจริญในทางบวก
3. Innovation Capital ทุนทางนวัตกรรม คือ ทุนในการพัฒนาต่อยอดจากของเดิมไปสู่
สิ่งใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น
4. Cultural Capital ทุนทางวัฒนธรรม คือ ทุนในการเรียนรู้ ค่านิยม แนวคิดหรือความ
เชื่อของคนที่เราติดต่อสัมพันธ์ด้วยเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงความคิดของบุคคลนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง
5. Emotional Capital ทุนทางอารมณ์ คือ การบริหารจัดการ EQ ซึ่งจะส่งผลถึงทุนในด้านต่างๆ ให้พัฒนาไปอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้การพัฒนาเยาวสตรีเพื่อเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนที่ต้องสอดคล้องกับ 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย
1. ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC)
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC)
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือASCC)
โดยจากการวิจัยทำให้ได้ข้อสรุปว่า
1. ด้านประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) สิ่งที่เยาวสตรีต้องพัฒนาคือ ต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตน ซึ่งหมายถึงต้องพัฒนาทุนทางอารมณ์
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) สิ่งที่เยาวสตรีต้องพัฒนาคือ ต้องพัฒนาทุนทางปัญญา ทักษะความรู้ด้านต่างๆที่หลากหลาย
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือASCC) สิ่งที่เยาวสตรีต้องพัฒนาคือ ต้องพัฒนาทุนทางสังคม ซึ่งรวมถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมทั้งของตนเองและกลุ่มอาเซียนให้มากขึ้น
โดยสรุป
การพัฒนาเยาวสตรีภายใต้บริบทประชาคมอาเซียนนั้น เยาวสตรีต้องเตรียมความพร้อมที่สำคัญ 3 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับ 3 เสาหลักของการเป็นประชาคมอาเซียน
โดยเสาที่หนึ่งคือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) สิ่งที่เยาวสตรีต้องพัฒนาคือ ต้องพัฒนาด้านทุนทางปัญญา เช่นการเรียนรู้ทักษะความรู้ด้านต่างๆที่หลากหลายให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านภาษา ทักษะการประกอบอาชีพ เป็นต้น
ส่วนเสาที่สองคือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือASCC) สิ่งที่เยาวสตรีต้องพัฒนาคือ ต้องพัฒนาด้านทุนทางสังคม ซึ่งรวมถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมทั้งของตนเองและกลุ่มอาเซียนให้มากขึ้น เช่น การสร้างเครือข่ายเยาวสตรีในอาเซียน การปลูกฝังค่านิยม/กุลสตรีไทยที่พึงปรารถนา เป็นต้น
และเสาที่สามคือ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) สิ่งที่เยาวสตรีต้องพัฒนาคือ ต้องพัฒนาด้านทุนทางอารมณ์ เช่น ต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตน การมีคุณธรรมจริยธรรม หรือการมีทักษะการใช้ชีวิต เป็นต้น
...................😇😇😇😇😇😇😇.......................