วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

ว่าด้วยเรื่องภาษี (ตอนที่1)



ความหมายของภาษีที่แท้จริง
 
         การบริหารงบประมาณแผ่นดินของประเทศ รัฐบาลต้องบริหารงบ 3 ด้าน ได้แก่ งบรายได้ งบรายจ่าย และหนี้สาธารณะ การบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
          รายได้ของรัฐบาลมาจาก 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ รายได้ที่มาจากภาษีอากร และรายได้ที่มาจากแหล่งอื่น เช่น กำไรจากรัฐพาณิชย์ และค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น แต่ 80-90% ของรายได้ภาครัฐมาจากภาษีอากร ดังนั้นจึงถือได้ว่าภาษีอากรเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาล การที่ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นนั่นเท่ากับว่ารัฐบาลก็จะมีรายได้มากขึ้นสำหรับนำไปบริหารประเทศในส่วนต่างๆทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
การแก้ปัญหาความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนในชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญนอกเหนือจากการเร่งให้เกิดผลผลิตของชาติให้สูงขึ้น (GDP ที่สูงแต่ประชาชนยังยากจน) เพราะว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจก็เพื่อเพิ่มมาตรฐานการดำรงชีพของประชาชนในชาติให้สูงขึ้น ซึ่งภารกิจที่รัฐบาลควรทำคือ
1)      การทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น
2)      การทำให้เกิดการจ้างงานที่สูงขึ้น
3)      รักษาระดับราคาให้เสถียรภาพ
4)      ดูแลดุลยภาพดุลการชำระเงิน
5)      ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้
6)      กระจายการเติบโตเพิ่มตลาดลงสู่ส่วนภูมิภาค ลดความแตกต่างระหว่างภูมิภาคกับเมือง
7)   ขยายเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ


การสร้างความเจริญเติบโตนั้นต้องอาศัยทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อให้เกิดผลที่ที่มีประสิทธิภาพ โดยภาษีอากรเป็นเครื่องมือหนึ่งของนโยบายการคลัง ที่สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ในแง่ที่เป็นรายได้หลักของรัฐบาล ซึ่งการใช้จ่ายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายทางตรงหรือทางอ้อมโดยผ่านเงินอุดหนุน หรือการใช้จ่ายในด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การฝึกอบรม การสาธารณะสุข และด้านอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้นโยบายการเจริญเติบโตได้ผลตามเป้าหมาย


ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ภาษีอากร ในระบอบประชาธิปไตย จึงหมายความถึง เงินที่ประชาชนร่วมกันจ่ายเพื่อจ้างรัฐ ให้รัฐดำเนินนโยบายบริหารประเทศด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยส่วนรวม ผลประโยชน์ของการบริหารงบประมาณภาษีอากรต้องส่งผลกลับคืนสู่เจ้าของเงินคือ ประชาชน 

          กล่าวโดยสรุปได้ว่า
                         ภาษีอากร เป็นสิ่งที่ประชาชนร่วมกันจ่ายเพื่อจ้างรัฐ

ดังนั้น ภาษี จึงยังคงเป็นเงินของประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐ เพียงแต่เจ้าของเงินคือประชาชนอนุญาตให้รัฐนำเงินส่วนนี้ไปบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน  และข้าราชการรวมถึงลูกจ้างในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย จึงเป็นลูกจ้างของประชาชน นอกจากนี้ทรัพย์สินต่างๆที่เป็นของรัฐ เจ้าของที่แท้จริงก็คือ ประชาชนนั่นเอง